Loading...
Loading...
คุณปิยะ กิจประสงค์ เกษตรกรหนุ่ม เผยกับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ภาควิชากีฏวิทยา ทำงานประจำอยู่คลังสินค้า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งราว 6 ปี กระทั่งเริ่มรู้สึกอยากทำกิจการส่วนตัว จึงลาออกพร้อมกับนำเงินเก็บสะสมมาสร้างโรงเรือนกางมุ้งปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ หรือ มะเชือเทศราชินี 3 โรงเรือน พื้นที่ทั้งสิ้นราว 600 ตารางเมตร ผสมปุ๋ยสูตรตัวเอง เก็บมะเขือเทศเชอรี่ผลสดขายสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 – 150 บาท
สำหรับมะเขือเทศเชอร์รี่ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบทะเลทวีปตะวันตก เป็นไม้เมืองหนาว มีหลายสายพันธุ์ แยกตามลักษณะของผล และสี เช่น สีเหลือง แดง ชมพู ม่วง น้ำตาล คนทั่วไปนิยมทานผลสด ซึ่งการปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ของไทย เริ่มจากภาคเหนือ เพราะมีอากาศเย็น ส่วนภาคกลางที่พบขณะนี้ มีที่จังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี
ถามว่าทำไมคุณปิยะ เลือกปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ เจ้าตัว บอกว่า ที่บ้านมีพื้นที่ว่างเพียง 2 งาน หรือ 600 ตารางเมตร ฉะนั้นจึงเลือกปลูกพืชอายุสั้น เพราะจะได้ทำเงินเร็ว แต่ทว่าไม่อยากปลูกแตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว เพราะในตลาดมีขายเยอะแล้ว อีกอย่างกลัวขายไม่ได้ราคา จึงเลือกปลูกผักที่คนรุ่นใหม่นิยมรับประทาน อย่างเช่น มะเขือเทศเชอร์รี่
การปลูกมะเขือเศเชอร์รี่ของคุณปิยะ เขาลงทุนสร้างโรงเรือน ต้นทุนโรงเรือนละ 1 แสนบาทวัตถุประสงค์ที่ต้องสร้างโรงเรือน เกษตรกร บอกว่า จะได้ควบคุมโรคและป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ใช้งานได้หลายสิบปี
สายพันธุ์ที่คุณปิยะเลือกปลูก คือ มะเขือเทศเชอร์รี่ สีแดง และ สีเหลือง นำเมล็ดมาเพาะในกระบะก่อน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นย้ายต้นเข้าโรงเรือน ปลูกต่อไปอีกราว 2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้
สำหรับปริมาณมะเขือเทศที่คุณปิยะปลูก โรงเรือน 1 หลัง พื้นที่ราว 200 ตารางเมตร ปลูกต้นมะเขือเทศได้ราว 450 ต้น ผมปลูกสลับกัน 3 โรงเรือน ทำให้มีผลผลิตออกตลอด เก็บขายทั้งปี สัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท
รสชาติของมะเขือเทศที่ได้มาจะดีแค่ไหน เกษตรกรหนุ่ม บอกว่า อยู่ที่การให้ปุ๋ย ต้องผสมปุ๋ยเอง เพื่อจะได้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืช ช่วงย้ายกล้าลงกระถางจะใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ช่วงติดลูกใช้สูตร 15-15-15 และช่วงผลมะเขือเทศเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงจะใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ส่วนผสมสูตรปุ๋ยที่ว่ามานี้ จะให้ผ่านทางท่อระบบน้ำหยด
“มะเขือเทศเชอร์รี่เป็นไม้เมืองหนาว ไม่ชอบอากาศร้อน ฉะนั้นผลผลิตจะหายไปเกือบครึ่งช่วงหน้าร้อน เลยต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิต ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง ร่วมกับ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการหาวิธี ช่วยเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศ ในช่วงฤดูร้อน”